เยอ

เยอ
ชาวเยอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พบในแถบอีสานใต้และอีสานเหนือบางส่วน รวมทั้งฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในครั้งที่กษัตริย์ขอมปกครองนครจำปาศักดิ์นั้น ชาวข่าเป็นชนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแถบนั้น ชาวข่าเรียกตัวเองหลายอย่าง เช่น จะ ระแด บูร กูย ฯลฯ ข่ามีอยู่ ๒กลุ่ม คือ
๑. กลุ่มที่อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อยู่กระจายตามเมืองขึ้นของจำปาศักดิ์ เนื่องจากในสมัยที่นครจำปาศักดิ์ตั้งเป็นรัฐอิสระ มีเจ้าสร้อยสมุทรพุทธางกูรปกครอง ราว พ.ศ. ๒๒๕๑-๒๒๗๕ได้ขยายอำนาจเข้ามาครอบคลุมเขตพื้นที่เมืองอีสาน และอพยพชนชาวข่าและชาวลาวมาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางฝั่งซ้ายและ
ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ข่าที่อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเรียกว่า ข่าจะแด ข่าวะ ข่าบูร ข่ากูย (กวย)
๒. กลุ่มที่อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แบ่งออกเป็น ๒กลุ่ม คือ กูย เดิมอยู่ในเขตเมืองอัตบือแสนแป สารวัน อพยพมาอยู่ในประเทศไทยเมื่อใดไม่ปรากฏ สมัยรัชกาลที่ ๓เรียกพวกนี้ว่าส่วย ซึ่งมีทั้งส่วยที่อยู่ติดเขตแดนเขมร และส่วยที่อยู่ติดเขตแดนลาว และอีกกลุ่มหนึ่งคือพวกเยอที่อยู่ใกล้เขมร บางพวกยังคงรักษาวัฒนธรรมภาษาของตัวเอาไว้ เป็นชาติพันธุ์ตระกูลมอญ-เขมร จากการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ได้จัดชนชาติพันธุ์ชาวเยอเป็นกลุ่มหนึ่งของกวยหรือกูย ซึ่งก็คือกวยเยอ ต่อมาจึงเรียกสั้น ๆ ว่า เยอ ดังนั้นชาวเยอก็คือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งของกวยหรือข่า ที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากราว พ.ศ. ๒๒๒๔-๒๒๒๕เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในเวียงจันทร์ จึงมีผู้นำชาวข่าอพยพมาตามเมือง รายทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของจำปาศักดิ์ สืบเนื่องจากในสมัย เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรปกครองนครจำปาศักดิ์ ได้แผ่อำนาจการปกครองไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง รวมทั้งแถบอีสานใต้ ได้สร้างเมืองขึ้น ในแถบนี้คือ ศรีนครลำดวน จึงมีพวกข่าหรือพวกเยออพยพมาด้วย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นหัวหน้าชาวกวยได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระ” และปกครองบ้านเมือง ผู้นำชาวเยอหลายคนได้นำชาวเยอ บางส่วนมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบเมืองศรีนครลำดวน(ปัจจุบันคือบ้านขมิ้น) โดยมีพระศิลา เป็นผู้นำบ้านเดิม พระโคตรและพระแก้วเป็นผู้นำบ้านขมิ้น ต่อมาเป็นบ้านโนนแกด (โนนแกด ภาษาเยอ แปลว่า โนนเล็ก ๆ)โดยสรุปแล้ว ชาวเยอ เป็นชาติพันธุ์ในตระกูลมอญ-เขมร อพยพมาจากฝั่งขวาของแม่น้ำโขง มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น กวย กูย ข่า หรือส่วย อพยพมาเมื่อใดไม่ปรากฏ สาเหตุของการอพยพมาก็คือ หนีภัยจากความไม่สงบของบ้านเมืองและติดตามเจ้านาย ชาวเยอมีนิสัยรักสงบ ซื่อสัตย์ และเชื่อฟังผู้นำหรือผู้อาวุโส ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี มีภาษาพูดเป็นของตนเอง ซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  ปัจจุบัน มีชาวเยออาศัยอยู่ตามอำเภอต่าง ๆในจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอราษีไศล อำเภอปรางค์กู่ อำเภอไพรบึง อำเภอห้วยทับทัน เป็นต้น บ้านเรือน บ้านเรือนของเยอเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ไม่ถาวรมากนัก ทำหลังคาสูง มุงหลังคาด้วยหญ้า บางบ้านที่มีฐานะดีจะกั้นฝาบ้านด้วยไม้ไผ่หรือใบตาล มีการกั้นห้องเป็นสัดส่วน แต่ไม่ ชัดเจนในการใช้ประโยชน์มากนัก โดยเริ่มแรกจะกั้นเป็นห้องยาว ๆ ตลอดตัวบ้านห้องเดียว ห้องนี้เป็นห้องที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของผีเรือน ได้แก่ ผีปู่ย่าตายายหรือผีบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าจะอยู่ที่เสาเรือน ซึ่งเป็นเสาแฮก (เสาเอก)  เสาแฮกนี้จะอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของบ้าน ห้องนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ห้องเปิง” ใช้เป็นห้องนอนของลูกสาว และใช้เป็นที่เก็บสัมภาระต่าง ๆ ด้านหน้าของห้องเปิงจะเป็นห้องนอนของพ่อแม่ ส่วนห้องชานหลังบ้านจะเป็นห้องนอนลูกชาย ตลอดจนเป็นที่รับแขกที่มาเยี่ยมเยียน หรือแม่แต่เป็นที่พักอาศัยของบรรดาญาติที่มาจากต่างถิ่น นอกจากนี้ก็จะมีที่ยื่นออกไปด้านหลังใช้เป็นที่ทำครัว

การแต่งกาย
ผู้ชายจะนุ่งโสร่งหรือผ้าสีต่าง ๆ เป็นโจงกระเบน มีผ้าขาวม้าคาดเอวหรือคล้องไหล่ เครื่องประดับมีสร้อยคอรูปแบบต่าง ๆ ส่วนผู้หญิงจะแต่งกายด้วยเสื้อแขนกระบอกคอกลมหรือคอตั้งสีสันต่าง ๆ นุ่งผ้าถุงโจงกระเบน มีเสื้อสีสันต่าง ๆ แต่ไม่มีลวดลายอยู่ด้านใน มีตุ้มหูเป็นเครื่องประดับที่สำคัญการผสมผสานกลมกลืนทางวัฒนธรรมการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ในกลุ่มชาวเยอนี้มีมาตั้งแต่อดีต มีการแต่งงานระหว่างชาวเยอกับชาวเขมร ชายเยอกับชาวลาว ชาวเยอกับชาวส่วยแลชาวเยอกับชายไทยเชื้อสายมอญแถบพระประแดงในอดีต อย่างไรก็ตามชาวเยอยังนิยมแต่งงานระหว่างชาวเยอด้วยกัน เพราะพูดกันรู้เรื่อง ในสมัยปัจจุบันนี้มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์มากมายหลากหลายทั้งเชื้อชาติและจำนวน เช่น เขมร ไทยอีสาน ไทยภาคกลาง ไทยภาคใต้ รวมทั้งคนจีน เป็นต้น