เขมร

เขมร
อินธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ของเขมร ได้ขยายเข้าสู่ดินแดนจังหวัดศรีสะเกษ ในสมัยเขมรพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 16-18) การขยายอิทธิพลทางการเมืองของเขมร ในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๕๔๕-๑๕๙๓) พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๑) เป็นสมัยที่ชาวเขมรได้เข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษ เพราะกษัตริย์เขมรได้เกณฑ์ชาวเขมร จากประเทศเขมรและชาวกวยในเขตอีสานใต้
ให้เป็นผู้สร้าง ปราสาทและสร้างเมืองในเขตอีสาน นอกจากนี้ประชาชนยังถูกบังคับให้สร้างถนนหนทางจากนครธม ไปยังเมืองและประเทศต่าง ๆ ในเขตอีสานใต้ด้วย ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ได้มีการสร้างปราสาทจำนวนมาก ชาวเขมรที่ถูกเกณฑ์แรงงานจึงได้ตั้งหลักแหล่างอยู่รอบ ๆ ปราสาทและสร้างเมืองขึ้น เช่น เมืองต่ำ (จังหวัดบุรีรัมย์) และบริเวณอื่น ๆ ทำให้วัฒนธรรมเขมรเข้าสู่อีสานใต้ วัฒนธรรมเขมรได้เข้ามามีอิทธิพล
ในหมู่ชาวกวยในเขตจังหวัดศรีสะเกษ โดยเริ่มจากการที่เมืองกำปงสวายหนีภัยการเมืองเข้ามาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๓บุตรีของออกญาเดโช ได้แต่งงานกับชาวเมืองสังขะ ต่อมาเจ้าเมืองสังขะได้ส่งคนเข้ามาปกครองเมืองขุขันธ์ เนื่องจากขณะนั้นเมืองขุขันธ์ไม่มีเจ้าเมือง จึงทำให้วัฒนธรรมเขมรเข้ามามี อิทธิพลทางตอนใต้ของจังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน และผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมของชาวกวยในบริเวณแถบนี้ มีการนำวัฒนธรรมเข้ามาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านภาษาและขนบธรรมเนียมต่าง ๆ เรียกชาวกวย ที่กลายเป็นเขมรว่า “เขมรส่วย” และเรียกกลุ่มชาวกวยที่อยู่ใกล้กับลาวที่ยอมรับวัฒนธรรมลาวว่า “ลาวส่วย”

การแต่งกาย
ลักษณะการแต่งกายของคนพื้นเมืองเขมร ชายแต่งกายด้วยเสื้อคอกลมผ่าหน้า นุ่งโสร่งสีสันต่าง ๆ ผ้าขาวม้าคาดเอวหรือคล้องไหล่ ผ้าขาวม้าที่ใช้ลายขาวดำเล็กกว่าที่คนพื้นเมืองลาวใช้ ส่วนผู้หญิงจะแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าถุงลายตั้ง มีเชิงตามขวางสองชั้น ชั้นบนกว้าง ชั้นล่างแคบ ระหว่างรอยต่อคาดด้วยสีแดง เสื้อดำย้อมด้วยมะเกลือ แขนกระบอกรัดรูป ตามรอยตะเข็บถักด้วยสีต่าง ๆ ชายเสื้อผ่าทั้งสองด้าน ยาวประมาณ ๖ นิ้ว กระดุมทำด้วยเงิน ผ้าคล้องไหล่มีสีสันต่างๆ ผ้าคล้องคอนิยมหย่อนชายผ้าขาวมาข้างหน้า


ศิลปวัฒนธรรม
– กันตรึม เป็นวงดนตรีพื้นเมืองที่นำทำนองจังหวะ ตีโทนโจ๊ะคะครึม ครึม มาเป็นชี่อวงดนตรี เรียกว่า “กันตรีม” ซึ่งหมายถึงโทนนั่นเอง ทำนองเพลงของวงกันตรึมเป็นแม่บทของเพลงพื้นเมือง และการละเล่นพื้นเมืองอื่น ๆ ของชาวเขมร กันตรึมนิยมเล่นในงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน โกนจุก บวชนาค ตลอดจนงานเทศกาลต่าง ๆ ในสมัยโบราณนั้น งานแต่งงานจะต้องมีวงกันตรึม เล่นกล่อมหอจนถือเป็นประเพณี เครื่องกันตรึม มี โทน ๑ คู่ ปี่อ้อ ๑เลา ปี่ใน ๑ เลา ฉิ่ง ๑ คู่ กรับ ๑ คู่ และฉาบ ๑ คู่ ผู้เล่นโดยทั่วไปมี ๔ คน จะเป็นชายหรือหญิงก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชาย ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่ร้องและรำไปตามจังหวะเพลง การแต่งกายตามสบาย หากจะแต่งตามประเพณีนิยมของท้องถิ่นก็ได้ เช่น ผู้ชายใส่เสื้อคอกลม นุ่งผ้าโจงกระเบน ผ้าขาวม้า
คาดเอว ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น ใส่เสื้อรัดรูปแขนกระบอก

– ตุ้มโมง เป็นดนตรีพื้นเมืองที่ใช้บรรเลงในงานศพโดยเฉพาะ เครื่องดนตรีมีฆ้องหุ่ย ๑ ใบ เป็นเครื่องดนตรีนำ ชาวเขมรถือว่าเสียงฆ้องหุ่ยเป็นเสียงแห่งความเศร้าโศก เป็นอัปมงคล ในเรื่องของการตายนั้นจะต้องใช้เสียงฆ้องตี เพื่อบอกให้เพื่อนบ้านรู้และถือว่าเสียงอันเยือกเย็นของฆ้องหุ่ยนั้น อาจจะช่วยนำดวงวิญญาณของผู้ตายขึ้นไปสู่สวรรค์ได้ การตีฆ้องหุ่ย จะตีเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้จะมีกลองเพลขนาดใหญ่ ๑ใบ ปี่ไฉน ๑ เลา ถ้าหาปี่ไฉนไม่ได้ก็จะใช้ปี่อ้อแทน แล้วยังมีฆ้องวงอีก ๑ วง ตุ้มโมงนี้มีทำนองการขับร้องเช่นเดียวกับเพลงกันตรึม ผู้เล่นปกติมี ๔ คน คือ คนตีฆ้องหุ่ยและกองเพล ๑ คน คนเป่าปี่ ๑ คน คนตีฆ้องวง ๑ คน คนร้อง ๑ คน การแต่งกายตามสบาย ตามธรรมเนียมนิยมไปงานศพของเขมร
– เจรียง ซันตุจ แปลว่าร้องตกเบ็ด เป็นการร้องเล่นในงานเทศกาลต่างๆ หรืองานบวชนาค ซึ่งส่วนมากจะจัดในงานวัด หนุ่ม ๆ ที่มาร่วมงานจะรวมกันเป็นกลุ่มและหาคันเบ็ดมา ๑ คัน เหยื่อใช้ขนมข้าวต้มมัด ผลไม้ ผูกเป็นพวง วิธีการตกเบ็ดนั้น ที่ไหนมีกลุ่มหญิงสาวนั่งรวมกันอยู่กลุ่มหนุ่ม ๆ ก็จะพากันร้องรำทำเพลง ผู้ถือคันเบ็ดเป็นผู้ร้องเพลงเอง ถ้าชอบหญิงสาวคนไหนเหยื่อก็จะหย่อนเบ็ดให้เหยื่อไปอยู่หน้าสาวคนนั้น หากสาวรีบร้บเหยื่อไปก็แสดงว่ารับรัก หลังจากเสร็จงานแล้วฝ่ายหนุ่มก็จะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอตามประเพณีต่อไป
– เรือมตรต แปลว่ารำตรุษ ใช้เล่นกันในวันสงกรานต์ เครื่องดนตรีมีโทน ๑ คู่ เป็นหลัก นอกจากนี้ก็มีกันแชร์ ซึ่งได้แก่เครื่องดนตรีให้จังหวะ และมีซอ๑ คัน ขลุ่ย ๑ เลา กรับ ๑ คู่ และฉิ่ง ๑ คู่ ผู้เล่นไม่มีกำหนดว่าจะเป็นชายหรือหญิง ส่วนการแต่งกายนั้นตามสบาย จะแต่งให้สวยงามหรือตลกก็ได้ ในวงรำนั้นมีหัวหน้ากลอนเป็นผู้ร้องนำ จะจะบทเก่า ๆ หรือแต่งขึ้นเองก็ได้ เนื้อร้องส่วนใหญ่เป็นบทอวยพรเจ้าของบ้านในวันขึ้นปีใหม่ของไทย ต่อจากนั้นจะเป็นบทยกย่องชมเชยเจ้าบ้านหรือบทเกี้ยวพาราสี ผู้ที่มีหน้าที่สำคัญในคณะรำตรุษคือหัวหน้าตรุษ ซึ่งเป็นผู้ได้รับความนับถือจากคนในหมู่บ้าน จะเป็นผู้พาคณะรำตรุษไปตามบ้านเรือนในหมู่บ้าน เมื่อไปถึงบ้านใด ถ้าได้รับเชิญขึ้นบ้าน เจ้าของบ้านจะต้อนรับตามธรรมเนียม ในโอกาสนี้หัวหน้าตรุษก็จะขอ
ให้เจ้าของบ้านช่วยบริจาคเงิน สิ่งของ นำไปบำรุงวัดหรือสาธารณะประโยชน์ในหมู่บ้าน รำตรุษนั้นจะรำอยู่ที่ลานบ้านจนกว่าหัวหน้าตรุษจะลาเจ้าของบ้าน
เดินทางไปบ้านอื่นต่อไป เมื่อร้องรำไปทั่วหมู่บ้านหรือกำหนดไว้แล้วว่าอาจจะเป็นหนึ่งวันหรือหลายวันก็ได้ หัวหน้าตรุษก็จะนำสิ่งของและเงินทองที่ชาวบ้านบริจาค ไปให้ผู้หลักผู้ใหญ่หรือถวายเจ้าอาวาส เพื่อนำไปบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ต่อไป
– เรือมอันเร แปลว่า รำสาก สมัยก่อนเรียกว่า ลูตอันเร เล่นกันในวันหยุดสงกรานต์ ซึ่งเรียกว่า “วันต๊อม” ชาวเขมรถือว่าวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ ชาวเขมรจะพากันหยุดงาน ๓ วัน ตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ เพื่อพักผ่อนและไปทำบุญที่วัด พอถึง วันขึ้น ๑๔ค่ำ จะมี พิธีก่อภูเขาทรายตามวัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วไป รุ่งขึ้นวันขึ้น ๑๕ค่ำ มีการทำบุญตักบาตร และจาก วันแรม ๑ค่ำ เป็นต้นไป ตามประเพณีให้หยุดงาน ๗ วัน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวที่รักใคร่ชอบพอกันได้พบกันด้วยการละเล่นพื้นบ้าน เครื่องดนตรี  มีโทน ๑ คู่ ปี่อ้อ ๑เลา ปี่ไฉน ๑เลา ซออู้ ขนาดกลาง ๑คัน ตะโพน ๑ใบ ฉิ่ง ๑คู่ กรับ ๑คู่ ฉาบ ๑คู่ ผู้รำไม่จำกัดจำนวน ส่วนผู้เล่นดนตรีปกติมี ๔คน ส่วนการแต่งกาย ในสมัยก่อนไม่พิถีพิถัน แต่งกายตามสบาย หากจะให้สวยงามก็จะแต่งตามประเพณีนิยมคือ ผู้ชายนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าขาวม้าคาดเอว 1 ผืน คล้องคอปล่อยชายไปข้างหลังอีก๑ผืน ส่วนผู้หญิง จะนุ่งผ้าไหมปูม ภาษาเขมรเรียกว่า “ซัมป๊วตโฮล” เสื้อแขนกระบอก มีผ้าสไบห่าง ๆ พาดทับเสื้ออีกชั้นหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีเครื่องประดับ
อื่นๆ อีก
– รำแม่มด ผู้หญิงเริ่มพิธีแสดง ๑คน มีเครื่องบวงสรวง เครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ ดอกไม้ เหล้า ข้าวต้มมัด และเครื่องใช้อื่นๆ มีผู้ร่วมแสดงประมาณ ๑๐คนขึ้นไป ผู้ชายเล่นดนตรีประกอบ เครื่องดนตรี มีกลอง แคน ขลุ่ย ฉิ่ง กรับ และพิณ รำแม่มดนิยมเล่นกันในท้องถิ่นอำเภอขุขันธ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอกันทรลักษ์ เดิมในอำเภอดังกล่าวนิยมเล่นเจรียง กันตรึม อาไย และกระโน้บติงตอง ในปัจจุบันไม่นิยมเล่นมากนัก และการแสดงเหล่านี้ก็มีวิวัฒนาการแตกต่างไปจากเดิม