ส่วย

ส่วย
ส่วย เดิมคนทั่วไปจะเรียกว่า “กวย” “กุย” หรือ “ข่า” หลักฐานจากกฏหมายอยุธยาฉบับ พ.ศ. ๑๙๗๔ได้ระบุว่า พ่อค้าจากดินแดนใกล้เคียงที่เดินทางมาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ อินเดีย มาเลย์ ชานุ (ไทยใหญ่) แกน กวย และอื่น ๆ หลักฐานนี้เป็นหลักฐานชั้นต้นชิ้นแรกที่กล่าวถึงชาวกวย ชาวกวยเรียกตนเองว่า กวย หรือกุย หรือกูย ตามภาษาพูดของตน และจากหลักฐานในพงศาวดารเมืองละแวก ได้กล่าวถึงกษัตริย์ของเขมร ในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๐ว่า ได้ทรงขอให้เจ้ากวยแห่งตะบองขะมุมที่มีเมืองสำคัญทางตอนใต้ของเมืองจำปาศักดิ์ ส่งทหารไปช่วยปราบกบฏ เมื่อกองทัพของพระเจ้าธรรมราชแห่งนครธมและเจ้ากวยแห่งตะบองขะมุมได้ปราบกบฏสำเร็จ ประมุขทั้งสองฝ่ายก็ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ จึงกล่าวได้ว่าชนชาวกวย
เคยมีการปกครองแบบอิสระ เคยส่งทูตมาค้าขายกับราชสำนักอยุธยา ช่วยกษัตริย์เขมรในการปราบกบฏ และอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรเรื่อยมาชาวกวยได้มีการอพยพไปในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ดินแดนตอนเหนือของเขมรและตอนใต้ ของลาวอยู่เสมอ เดิมถิ่นฐานของชาวกวยตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองกำปงธมในเขมร ต่อมาได้เกิดแผ่นดินไหว ทำให้ชนชาวกวยอพยพขึ้นเหนือเข้าสู่เขตลาวแถบแคว้นจำปาศักดิ์ แต่ต้องประสบภาวะน้ำท่วมอยู่แทบทุกปี เหตุผลอีกประการหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง เมื่อเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้สถาปนาอาณาจักรจำปาศักดิ์ขึ้น(แคว้นจำปาศักดิ์) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ชาวกวยที่อยู่ในเขตนครจำปาศักดิ์จึงได้อพยพหนีภัยทางการเมือง ข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่ภาคอีสานทางแก่งสะพือ ซึ่งเดิมเรียกตามภาษากวยว่า แก่งกระชัยผึด (แก่งงูใหญ่) ในเขตอำเภอโขงเจียม (โพงเจียง-ฝูงช้าง) แล้วแยกกันไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านนากอนจอ (บ้านนาลูกหมา) ซึ่งปัจจุบันนี้คืออำเภอวารินชำราบ บ้านเจียงอี (บ้านช้างป่วยหรือช้างเจ็บ) ในเขตอำเภอเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน เกี่ยวกับชุมชนหรือหมู่บ้านชาวกวยที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในเขตอีสานใต้ พอสรุปได้ว่าในสมัย สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) พระยาช้างเผือก
แตกออกจากโรงช้างหนีเข้าป่ามาทางเขตเมือง พิมายด้านตะวันออก พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้โปรดเกล้าฯ ให้ทหารออกติดตาม จนถึงเขตชุมชนชาวกวย ที่บ้านหนองกุดหวาย บ้านเมืองที บ้านโคกอัจจปะนึง และบ้านดงลำดวน หัวหน้าหมู่บ้านเหล่านี้ คือ เชียงสี เชียงปุม เชียงฆะ ตากะจะ และเชียงขัน ตามลำดับป็นญาติพี่น้องกันและไปมาหาสู่กัน อยู่เสมอ แม้จะอยู่ห่างไกลกัน ชาวกวยมีความชำนาญในการเดินป่า และล่าสัตว์ ดังเช่นการคล้องช้างซึ่งได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน หัวหน้าหมู่บ้านและทหารจึงได้ออกติดตามพระยาช้างเผือกได้  ในเขตเมืองนครจำปาศักดิ์ด้านตะวันตกต่อมาหัวหน้าหมู่บ้านดังกล่าว ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวง” และได้เลื่อนเป็น “พระ” พร้อมทั้งยกบ้านขึ้นเป็น “เมือง” บ้านหนองกุดหวายเป็นเมืองรัตนบุรี ให้หลวงศรีนครเตา เป็นพระศรีนครเตา บ้านคูปะทายเป็นเมืองสุรินทร์ ให้หลวงสุรินทร์ภักดี เป็นพระสุรินทร์ภักดี ศรีณรงค์จางวาง
บ้านโคกอัจจปะนึงเป็นเมืองสังฆะ ให้หลวงเพชร เป็นพระสังฆะบุรี บ้านดงลำดวน เป็นเมืองขุขันธ์ ให้หลวงแก้วสุวรรณ เป็นพระไกรภักดี ศรีนครลำดวน เมืองขุขันธ์อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเมืองพิมาย และเมืองนครราชสีมาในเวลาต่อมา พระไกรภักดีศรีนครลำดวนซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านดงลำดวนเล็งเห็นว่าชัยภูมิไม่เหมาะสมเพราะกันดารน้ำ จึงได้อพยพไปบ้านแตระ (บริเวณอำเภอขุขันธ์ปัจจุบัน)เพราะมีน้ำอุดมสมบูรณ์ดี ชุมชนในเขตหัวเมืองเขมร ป่าดงได้รักษาวัฒนธรรมของตนเอง มีการไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ เมื่อชาวเขมรและชาวลาว ได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตนี้วัฒนธรรมเขมรและชาวลาวจึงค่อยๆ มีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมชาวกวยในเขตจังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันนี้ พวกส่วยกระจายอยู่ตามพื้นที่อำเภอต่าง ๆในจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอวังหิน อำเภอกันทรารมย์ อำเภอศรีรัตนะ อำเภอไพรบึง อำเภอขุขันธ์ อำเภอปรางค์กู่อำเภอห้วยทับทัน เป็นต้น


การแต่งกาย ผู้ชายจะแต่งกายด้วยเสื้อคอกลมผ่าหน้า นุ่งโสร่งสีสันต่าง ๆ หรือกางเกงขาก๊วยสั้น ผ้าขาวม้าคาดเอวหรือคล้องไหล่ ผู้หญิง จะนุ่งผ้าถุงมีเชิงหรือไม่มี กระดุมทำด้วยเงิน เสื้อแขนกระบอกสีสันต่าง ๆ ผ้าเบี่ยงเป็นผ้าขาวม้าหรือผ้าลายลูกแก้วสีครีมดำ


ศิลปวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวส่วย ในปัจจุบันมีลักษณะใกล้เคียงกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมชาวไทยอีสานและชาวเขมร อาจแตกต่างจากชาวไทยอีสานบ้าง แต่ไม่เด่นชัดมากนัก ที่เด่นชัดคือมีภาษาพูดและการนับเลขเป็นของตัวเอง แต่ไม่มีอักษรและตัวเลข
ของตนเอง นอกจากนี้ยังมีประเพณียะจั๊วะ (บางหมู่บ้านเรียกว่าผีฟ้าผีแถน)